เรื่องเล่าแดนพุทธภูมิ เนื่องในโอกาสเทศกาลวันอาสาฬหบูชา ตอนที่ 4 สู่แดนประสูติ ลุมพินีสถาน
เปิดอ่านแล้ว 38 ครั้ง
เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2556 ณ ประเทศเนปาล ซึ่งเวลาช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที พวกเราออกเดินทางไปยังวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล วัดไทยแห่งแรกในประเทศเนปาล โดยมี ท่านเจ้าคุณราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ตั้งอยู่ภายในปริมณฑลสังเวชนียสถานเขตลุมพินีวัน บริเวณสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางเขตตะวันตกของประเทศเนปาล ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดีย สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในนามของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน และผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธศาสนา และร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังลุมพินีวัน จากวัดไทยลุมพินีถึงลุมพินีวันห่างกันประมาณ 800 เมตร นั่งรถประมาณ 500 เมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 300 เมตร ระหว่างทางเดินสู่ลุมพินีสถาน เป็นที่ประดิษฐ์พระพุทธเจ้าน้อย หรือ “พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” ที่ชาวเนปาล-อินเดีย เรียกว่า “BABY BUDDHA” เป็นรูปแทนของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติจากพระครรภ์มารดา แล้วทรงยืนได้ด้วยพระบาททั้งสอง ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาคือ วาจาอันประกาศความสูงสุดว่า “เราจะเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราจะเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราจะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดของเรานี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้จะไม่มีภพใหม่อีก” เป็นประกาศความมุ่งมั่นหรือ “สัจจาอธิษฐาน” ที่จักทรงบำเพ็ญให้เข้าถึงความประเสริฐสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ในโลก ซึ่งก็คือการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณให้จงได้ในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นชาติสุดท้าย หลังจากได้สักการะพระพุทธเจ้าน้อยแล้ว เดินต่อไปสักพักหนึ่ง ก็ถึงพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญยิ่ง “ลุมพินีวัน”
ตามพุทธประวัติ เมื่อใกล้กำหนดพระประสูติกาล ธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ พระนางสิริมหามายาเทวี พระพุทธมารดาจะต้องเดินทางกลับกรุงเทวทหะ เมืองต้นตระกูลของพระนาง ระหว่างเดินทางจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเทวทหะ บริเวณที่เรียกว่า “ลุมพินีวัน” ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล พระนางได้หยุดพักพระอิริยาบถ โดยประทับยืนพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ จนรู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร เมื่อวันศุกร์ เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เมื่อคณะเดินทางถึงลุมพินีวันแล้ว พระธรรมวิทยากรได้นำพวกเราเยี่ยมชมรอบวิหารมหามายาเทวี พร้อมทั้งนำสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนที่จะเข้ากราบสักการะด้านในวิหารมหามายาเทวี ภายในวิหารมีรูปพระนางสิริมหามายาเทวี แกะสลักด้วยหินเป็นรูปพระพุทธมารดายืนประทับเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่พร้อมกับพระสนม และข้างหน้าเป็นรูปเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะกุมารกำลังก้าวพระบาทไปบนดอกบัว และยังมีรอยพระบาทซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ นับเป็นความปลาบปลื้มปิติของพวกเราชาวพุทธที่ได้มากราบสักการะพุทธสังเวชนียสถานแห่งนี้ ดั่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้” บริเวณใกล้วิหารมหามายาเทวี ยังมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" มีความเป็นมาว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมา ณ ลุมพินี และทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่แห่งนี้ พระองค์ได้รับสั่งให้สร้าง “เสาหินอโศก” ไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 86 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2556 คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ไปจาริกแสวงบุญ ณ สวนลุมพินี ต่างร่วมกันสวดมนต์ เจริญภาวนา และร้องเพลงถวายพระพรด้วยความจงรักภักดี ณ บริเวณวิหารมหามายาเทวีแห่งนี้ เมื่อได้เวลาอันสมควร พวกเราเดินทางกลับไปยังวัดไทยลุมพินี เพื่อออกเดินทางกลับเข้าประเทศอินเดีย